ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคเรื้อรังและโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองกลับมีจำนวนน้อยมาก จากการวิเคราะห์ปัญหาของอำเภอสันป่าตองพบว่า ผู้ป่วยและผู้ดูแลไม่รู้จักการดูแลแบบประคับประคอง เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยและญาติจะหมายถึงการกลับมารอความตายที่บ้านโดยไม่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลแล้ว นอกจากนี้ทางทีมผู้รักษาก็ขาดความรู้ความเข้าใจทำให้ไม่สามารถดูแลแบบประคับประคองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งไม่มียาบางรายการและขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงเครือข่ายชุมชนยังขาดการประสานงานที่ดีทำให้ไม่สามารถดูแลต่อเนื่องที่บ้านได้ การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองตามบริบทของอำเภอจึงมีความสำคัญ เพื่อให้การดำเนินงานทั้งในโรงพยาบาลและเครือข่ายชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ป่วยระยะท้ายได้รับการดูแลแบบประคับประคองอย่างครอบคลุมและเหมาะสมตามบริบทอำเภอสันป่าตอง
เป็นโครงการพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองที่ได้มาตรฐานตามหลักการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและเป็นไปตามบริบทของอำเภอสันป่าตอง ทั้งด้านกำลังคน ยา เวชภัณฑ์ งบประมาณ ระบบข้อมูล และภาคีเครือข่าย ระยะเวลา 1 เมษายน 58 - 30 กันยายน 59 (ระยะที่1) โดยมีประเด็นการพัฒนาประกอบด้วย 1)กำหนดโครงสร้างคณะทำงานในแต่ละระดับทั้งส่วนโรงพยาบาลและเครือข่ายชุมชน พร้อมกำหนดบทบาทและกลไกการประสานงานระหว่างคณะทำงาน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพคณะทำงานและเครือข่าย 2)กำหนดระบบการให้บริการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในโรงพยาบาลสันป่าตอง ทั้งผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก และเครือข่ายชุมชน 3)กำหนดรายการยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองทั้งส่วนโรงพยาบาลและเครือข่ายชุมชน 4)กำหนดแนวทางการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองของอำเภอสันป่าตอง 5)ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบทบาทพระสงฆ์
ผู้ป่วยระยะท้ายที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น (ปี55=57ราย ปี56=95ราย ปี57=191ราย ปี58=242ราย ปี59=327ราย) โดยผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมาย(มะเร็งระยะลุกลาม)ได้รับการดูแลแบบประคับประคองครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 50 (ปี58=53.2% ปี59=76.27%) ผู้ป่วยระยะท้ายได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม สามารถลดอัตราการเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินซ้ำใน 48 ชั่วโมงด้วยอาการรบกวนของผู้ป่วยระยะท้าย (ปี58=9.5% ปี59=6.7%) ลดอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำใน 28 วัน ด้วยอาการรบกวนของผู้ป่วยระยะท้าย (ปี58=3.3% ปี59=1.5%) และลดอัตราการพบข้อร้องเรียนต่อการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (ปี58=0.8% ปี59=0%)
การพัฒนาระบบในระยะที่1 ได้ผลผลิตเป็นคู่มือการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองอำเภอสันป่าตอง ต่อยอดการพัฒนาในระยะที่2 โดยการเผยแพร่และสนับสนุนการใช้คู่มือแก่แพทย์ทุกท่าน พยาบาลทุกหน่วยงาน และบุคลากรสาธารณสุขในอำเภอสันป่าตอง เพื่อขยายเครือข่ายการดำเนินงานที่เป็นระบบเดียวกันทั้งอำเภอ รองรับปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจากการยกฐานะเป็นโรงพยาบาลระดับ M1
สามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองสำหรับโรงพยาบาลชุมชนอื่นๆ
มีคณะทำงานหลักที่ติดต่อได้ 24 ชั่วโมง (แพทย์ 1 ท่าน พยาบาล Care mamager 2 ท่าน เภสัชกร 1 ท่าน) สร้างเครือข่ายการดำเนินงานโดยใช้ตัวแทนพยาบาลแผนกละ 1 คนและตัวแทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งละ 1 คน มีกระบวนการให้ข้อมูลก่อนการตัดสินใจรับการดูแลแบบประคับประคองทุกราย (Family group and advance care plan) และการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างทีมผู้ดูแล ผู้ป่วย และญาติ
ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอำเภอสันป่าตอง ผ่านข้อตกลง(MOU)ว่าด้วยความร่วมมือด้านการดูแลผู้ป่วยระยะยาวและผู้ป่วยระยะท้ายระดับอำเภอ
ไม่มีข้อมูล
ไม่เป็น
ไม่เคย
การประชุมวิชาการเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เขตสุขภาพที่1 โรงพยาบาลลำปาง 2560
รางวัลรองชนะเลิศการประกวดผลงานประเภท Poster presentation ในงาน Siriraj Palliative Care Day 2016 โรงพยาบาลศิริราช 2559