ปัจจุบันผู้ป่วยที่รับประทานยาวาร์ฟารินในโรงพยาบาลห้วยพลูมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และวาร์ฟารินจัดเป็นยาในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงของโรงพยาบาล เนื่องจากยามีดัชนีการรักษาแคบ มีเภสัชจลนศาสตร์และเภสัชพลศาสตร์ที่ซับซ้อน ขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกัน มีปัญหาอันตรกิริยามากมาย จึงเกิดปัญหาในการใช้ยาได้มาก และมีผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ ภาวะแทรกซ้อนของการเกิดเลือดออกที่อาจมีอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยในการปฏิบัติตน จึงจะทำให้ผู้ป่วยมีค่า INR ที่ดีต่อการรักษา และสามารถลดหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงจากการใช้ยาวาร์ฟารินได้ การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟาริน ณ โรงพยาบาลห้วยพลูจึงเกิดขึ้น
เพื่อพัฒนาการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่รับประทานยาวาร์ฟาริน เพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่มีค่า INR อยู่ในช่วงเป้าหมาย
การวิจัยพัฒนาเชิงทดลองแบบกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังการให้คำปรึกษาโดยใช้แบบบันทึกเพื่อติดตามผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 58 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 58 ทั้งหมด 34 คน ใช้ประชากรทั้งหมดเป็นกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ แบบบันทึกการให้บริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟาริน (Appendix 1) นำข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนแล้ว มาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม SPSS version 16 ใช้สถิติเชิงพรรณาด้วย จำนวน ค่าเฉลี่ย และร้อยละ
ระบบการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินที่พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีระดับค่า INR อยู่ในช่วงเป้าหมายเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยค่า INR อยู่ในช่วงเป้าหมายถึงร้อยละ 52.9 ส่วนกลุ่มที่ไม่อยู่ในช่วงเป้าหมาย จำแนกเป็น ผู้ป่วยที่มีระดับ INR สูงกว่าระดับเป้าหมาย (INR > 3.0) ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติร้อยละ 17.7 และระดับ INR ที่ต่ำกว่าระดับเป้าหมาย (INR < 2.0) ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร้อยละ 29.4 ดังนั้น การพัฒนางานให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยที่รับประทานยาวาร์ฟาริน ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพมากขึ้น มีค่า INR อยู่ในช่วงที่ให้ผลดีต่อการรักษาเพิ่มมากขึ้น และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษายังสถานพยาบาลอื่นได้
งานวิจัยนี้ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินมีความร่วมมือในการใช้ยาที่ดีขึ้น ผู้ป่วยมีค่า INR อยู่ในช่วงที่ให้ผลดีต่อการรักษาเพิ่มมากขึ้น ได้ตัวอย่างของการทำงานประจำสู่การวิจัยที่ดีและมีประสิทธิภาพ สามารถพัฒนางานที่รับผิดชอบได้ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด และสามารถนำกระบวนการพัฒนารูปแบบและนำรูปแบบการวิจัยนี้ ไปประยุกต์ ขยายผลและต่อยอดในงานประจำของโรงพยาบาล
ยาวาร์ฟารินเป็นยาที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเกิดปัญหาจากการใช้ยาได้มาก หากผู้ป่วยไม่มีความรู้ในการใช้ยาที่ดี ดังนั้นการหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยแต่ละรายจึงมีความแตกต่างกัน ผู้ปฏิบัติงานต้องไม่ใช้วิธีกำหนดปัญหาขึ้นมาเอง เพราะอาจมองข้ามปัญหาที่แท้จริงของผู้ป่วย ต้องทำการซักถามผู้ป่วยอย่างละเอียดและแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยแบบเฉพาะรายจึงจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด
การทำงานเป็นทีมและความร่วมมือร่วมใจที่ดี การให้เกียรติและไว้วางใจในศักยภาพการทำงานของเพื่อนร่วมงาน รวมถึงการใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เข้าถึงผู้ป่วย การดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและการประสานงานที่ดีเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การพัฒนาและความสำเร็จ
ผู้บริหารให้ความสำคัญและผลักดันนโยบายการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินให้เป็นตัวชี้วัดเชิงกลยุทธ์ของยุทธศาสตร์โรงพยาบาล สนับสนุนในเชิงขวัญกำลังใจ เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในรพ.และการอบรมเชิงปฏิบัติการอื่นๆ
ไม่มีข้อมูล
ไม่เป็น
ไม่เคย
ไม่เคย
ไม่เคย